Categories
News

เครื่องมือ Digital Marketing คืออะไรบ้าง?

เครื่องมือ Digital Marketing คืออะไรบ้าง? จะเรียกว่าเป็นความท้าทายของนักการตลาดก็คงไม่ผิดนัก สำหรับเรื่องเครื่องมือในการทำการตลาดดิจิทัล เพราะหากเราเทียบกับการตลาดยุคก่อน (Offline Marketing) ก็จะมีพื้นที่หรือรูปแบบให้คนได้เสพสื่อกันอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายบิลบอร์ด นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ใบปลิว แผ่นพับ หรือสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนมาเข้าสู่ยุคของดิจิทัลแล้ว เรามีทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน Streaming ไปจนถึง Search Engine ต่าง ๆ อย่าง Google เป็นต้น

แพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนถือเป็นเครื่องมือ Digital Marketing ทั้งสิ้น เพราะแต่ละช่องทางก็จะมีประสิทธิภาพในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ อีกทั้งเรายังสามารถทำ SEO (Search Engine Optimization) ให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google เพื่อเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ (Traffic) ให้มากขึ้นได้อีกด้วย

โดยบทความนี้ จะขอแบ่งประเภทของเครื่องมือ Digital Marketing ตามจุดประสงค์ของการใช้งานออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

– Advertising & Promotion เครื่องมือสำหรับการทำโฆษณาหรือเพื่อการประชาสัมพันธ์
– Social & Relationship เครื่องมือที่ช่วยให้แบรนด์ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ส่วนใหญ่มักเป็นช่องทางในการสื่อสาร เช่น เว็บไซต์ อีเมล โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
– Content & Experience เครื่องมือในการสร้างคอนเทนต์ประสบการณ์ต่าง ๆ หรือสื่อ (Media) เช่น โปรแกรมทำเว็บไซต์และบล็อก โปรแกรมทำวิดีโอ โปรแกรมทำเกม CMS ฯลฯ เป็นต้น
– Commerce & Sales เครื่องมือที่ช่วยในการขายของ เช่น แพลตฟอร์ม E-Commerce หรือระบบจัดการงานขายบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
– Data & Analytics เครื่องมือช่วยจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมาก ๆ ในการทำการตลาดดิจิทัล เนื่องจากการที่เรารู้ข้อมูล จะช่วยให้เราสามารถทำธุรกิจต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ รู้ว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาส่วนไหนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ตัวอย่างเครื่องมือวัดผลข้อมูล เช่น Facebook Insight, Google Analytics เป็นต้น
– Management เครื่องมือสำหรับการจัดการ ช่วยให้การทำงานเป็นระบบและคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงลดการดำเนินงานซ้ำซ้อนที่ต้องใช้คนด้วย เช่น Project Management Tools เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของ Digital Marketing คืออะไร?

แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องการจากการทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม คือผลสำเร็จในการทำธุรกิจ ซึ่งจะวัดเป็นกำไรหรือชี้วัดด้วยตัวแปรอย่างอื่นก็ได้ทั้งนั้น ยิ่งในทาง Digital Marketing ก็จะมีตัววัดผลลัพธ์ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น ROI, ROAS หรือ Lead เป็นต้น ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทำการตลาดดิจิทัลจะผันแปรไปตามความต้องการของผู้ที่นำไปใช้ หากเราต้องการผลกำไรจากการทำธุรกิจ วัตถุประสงค์ Digital Marketing ของเราก็คือทำเพื่อให้ได้กำไร โดยอาจเลือกการทำการตลาดออนไลน์เป็น Conversion, Sales หรือ Lead

ในขณะเดียวกันหากเราต้องการทำการตลาดดิจิทัลเพื่องานการกุศล วัตถุประสงค์ของเราก็คือการประชาสัมพันธ์แคมเปญ โดยอาจจะเลือกหากลุ่มบุคคลทำเพื่อ Brand Awareness ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงจะขอแปลความหมายของวัตถุประสงค์ Digital Marketing ว่า “เป็นสิ่งที่ไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนำไปใช้เพื่ออะไร” ก็แล้วกัน

ประโยชน์ของ Digital Marketing คืออะไร?

1. ใช้งบได้อย่างคุ้มค่า รู้ว่าเงินไปลงตรงส่วนไหนบ้าง
การใช้งานบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้คนส่วนมากจะเปิดให้บริการฟรี แต่ถ้าอยากเข้าถึงกลุ่มคนอย่างละเอียด เราสามารถซื้อพื้นที่โฆษณาออนไลน์เพื่อต่อยอดได้อีก ส่วนเรื่องงบก็ขึ้นอยู่กับเรา โดยสามารถทำแคมเปญโฆษณาออนไลน์ และวัดผลเพื่อการปรับงบ หรือโยกงบไปยังแคมเปญออนไลน์อื่น ๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าได้ ซึ่งถ้าเทียบไปแล้วค่าใช้จ่ายอาจจะต่ำกว่าการลงบิลบอร์ดใหญ่ ๆ ที่ราคาแพงมาก และบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจเล็ก ๆ อาจไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้น การทำ Digital Marketing คือทางเลือกหนึ่งที่ไม่แพงนักสำหรับผู้เริ่มต้น หรือธุรกิจที่มีงบจำกัด

2. มีข้อมูลมากมายเพื่อตัดสินใจ วัดผลได้
บนโลกออนไลน์ การจะเห็นตัวอย่างของคู่แข่งที่ทำการตลาดดิจิทัลนั้นมีมากมาย และล้วนเป็นข้อมูลที่เราค้นหาได้ เพื่อเรียนรู้และนำมาสร้างกลยุทธ์ของตัวเองที่เหนือกว่า นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือวัดผลและโปรแกรมจากเว็บไซต์ต่างๆ มากมายที่ใช้วิเคราะห์ตลาด ตลอดจนแนวโน้มอุตสาหกรรมที่ให้เราวางแผนได้อย่างครอบคลุมที่สุด

3. เข้าใจกระบวนการที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์อย่างแม่นยำ
เวลาทำแคมเปญต่าง ๆ ใน Digital Marketing นั้นมีหลายเครื่องมือมากที่สามารถเห็นพฤติกรรมของผู้คนที่เข้ามาหาธุรกิจเราบนออนไลน์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (เข้ามารู้จักแบรนด์และจบที่ปิดการขาย) เช่น Google Analytics, Google Search Console หรือ Tracking ต่าง ๆ ที่เราพยายามเก็บข้อมูลของคนที่ใช้งานออนไลน์เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมรวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพแคมเปญของเราได้

4. สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ในแต่ละแพลตฟอร์มที่เราสื่อสารไปในรูปแบบโฆษณาต่าง ๆ ทั้งภาพหรือเสียง เราสามารถกำหนด เพศ อายุ ความสนใจ หรือพฤติกรรมของพวกเขาได้ ดังนั้น ธุรกิจสามารถเลือกเข้าหากลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันได้

5. ง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า
เนื่องจากการทำ Digital Marketing มักทำผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละแพลตฟอร์มมีผู้ใช้ออนไลน์อยู่ตลอดเวลา แต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับช่วงเวลาเช่นกัน ดังนั้น หากต้องการเฟ้นหากลุ่มลูกค้าใหม่ หรือคอยสื่อสารกับลูกค้าเก่า ก็สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนในที่ใดที่หนึ่ง แต่สามารถเลือกได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

จึงอาจกล่าวได้ว่า ประโยชน์ของ Digital Marketing ก็อาจจะคล้ายกับหัวข้อวัตถุประสงค์ ว่าการทำการตลาดดิจิทัลจะได้ประโยชน์แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ เข้าใจ Customer Journey และสามารถตอบสนองความต้องการพวกเขาได้ดีหรือเปล่า เพราะคงไม่มีองค์กร แบรนด์ หรือบริษัทใดที่ทำการตลาดดิจิทัลโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Digital Marketing หรือการตลาดแบบดั้งเดิมก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีงบประมาณในการลงทุน และคาดหวังกำไรทั้งสิ้น